รูปแบบธุรกิจ
รูปแบบขององค์กรทางธุรกิจ
ในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองว่าจะดำเนินงานในรูปแบบองค์กรธุรกิจประเภทใด ซึ่งองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีวิธีดำเนินงานผลดีและผลเสียที่แตกต่างกัน จำแนกตามลักษณะเจ้าของธุรกิจได้ 6 รูปแบบดังนี้
1.กิจการเจ้าของคนเดียว ( Single Proprietorship)
2.กิจการห้างหุ้นส่วน ( Partnership)
3.กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company)
4.กิจการสหกรณ์ ( Co-operative Society)
5.กิจการแฟรนไชส์ (Franchise)
6.กิจการรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise)
1.กิจการเจ้าของคนเดียว ( Single Proprietorship)
กิจการเจ้าของคนเดียว คือกิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินงานเองทั้งหมดคนเดียว ตัวอย่างกิจการประเภทนี้ เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านเสริมสวย การทำไร่ การทำนา แผงลอย
ลักษณะของกิจการเจ้าของคนเดียว
1.มีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว ใช้เงินลงทุนน้อย
2. เจ้าของกิจการมีความรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินของเจ้าของได้ ถ้าทรัพย์สินของกิจการไม่เพียงพอชำระหนี้
3. เจ้าของกิจการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งผลกำไรและผลขาดทุนเพียงคนเดียว
4. การควบคุมการดำเนินงานโดยเจ้าของกิจการคนเดียว
2.กิจการห้างหุ้นส่วน ( Partnership)
กิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ กิจการที่มีบุคคลั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สืบต่อมาจากธุรกิจเจ้าของคนเดียว
ลักษณะของกิจการห้างหุ้นส่วน
1. มีผู้ร่วมเป็นหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำสัญญาร่วมกันดำเนินงาน
2.มีการร่วมกันลงทุนโดยนำเงินสด ทรัพย์สินหรือแรงงานมาลงทุนตามข้อตกลง
3. มีการกระทำกิจการอย่างเดียวกันร่วมกัน
4. มีความประสงค์แบ่งผลกำไรกันตามข้อตกลง
ประเภทของกิจการห้างหุ้นส่วน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายห้างหุ้นส่วนประเภทนี้ต้องใช้คำว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ประกอบหน้าชื่อของห้างหุ้นส่วนเสมอ
3.กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company)
บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าหุ้นเท่าๆกัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
ประเภทของบริษัทจำกัด
1. บริษัทเอกชนจำกัด คือ บริษัทซึ่งตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น ซึ่งแต่ละหุ้นมีมุลค่าเท่าๆกัน โดยมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่เจ็ดคนแต่ไม่ถึง หนึ่งร้อยคน ผู้ถือหุ้นทุกคนต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมุลค่าหุ้นที่ตนถือเท่านั้น และคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นไม่เป็นข้อสาระสำคัญ
2. บริษัทมหาชนจำกัด หมายถึง บริษัทประเภทซึ่งตั้งด้วยความประสงคืที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ และบริษัทดังกล่าวได้ระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ
4.กิจการสหกรณ์ ( Co-operative Society)
สหกรณ์ คือธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความประสงค์อย่างเดียวกันร่วมกันจัดตั้ง ลงทุน ดำเนินการและเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยความสมัครใจ
ลักษณะของกิจการสหกรณ์
1. เป็นการร่วมลงทุนของบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยไม่จำกัดจำนวน
2. เป็นการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของบุคคลที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่คำนึงถึงสินทรัพย์
3. ผู้สมัครสมาชิกต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ
4. สมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดำเนินงานสหกรณ์
5. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในหมู่สมาชิกโดยไม่คำนึงถึงผลกำไร
6. การจัดตั้งมีการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการสหกรณ์
ประเภทของสหกรณ์
โดยในประเทศไทยได้แบ่งประเภทของสหกรณ์ตามประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับเรื่องการจัดประเภทสหกรณ์ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกตามความในพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 กำหนดประเภทสหกรณ์ที่รับจดทะเบียนรวมมี 6 ประเภท
1.สหกรณ์การเกษตร เป็นสหกรณ์ที่มีสมาชิกประกอบด้วยเกษตรกร มีหน้าที่ ในการจัดหาและให้บริการแก่สมาชิกในด้านการผลิตการเกษตร
2.สหกรณ์การประมง จัดตั้งขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและประกอบอาชีพด้านการประมง รวมถึงการจัดหาเงินทุนและอุปกรณ์เกี่ยวกับการประมงมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูก
3.สหกรณ์นิคม เป็นสหกรณ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกในการประกอบอาชีพรวมถึงการจัดหาและอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพให้แก่สมาชิก
4.สหกรณ์ร้านค้า เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการด้านการจัดหาสินค้าอุปโภค บริโภคจำหน่ายแก่สมาชิกในราคายุติธรรม
5.สหกรณ์บริการ เป็นสหกรณ์ที่ให้บริการแก่สมาชิกในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น สหกรณ์ไฟฟ้า สหกรณ์แท็กซี่ รถรับจ้าง สหกรณ์การเคหสถาน เป็นต้น
6.สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์ธนกิจ เป็นสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมเงินในหมู่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินในยามจำเป็นด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ
5. กิจการแฟรนไชส์ (Franchise)
กิจการแฟรนไชส์ อาจเรียกอีกอย่างว่า ธุรกิจสัมปทาน คือ ธุรกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 กลุ่มขึ้นไปหรือมากกว่า ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน แต่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในระบบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์จะกระจายสินค้าหรือบริการไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจากลักษณะของธุรกิจแฟรนไชส์จึงมีผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้ 2 ฝ่ายคือ
1. แฟรนไชซอร์ หรือ เจ้าของธุรกิจ คือ ผู้ให้สัมปทาน
2. แฟรนไชซี คือ ผู้ขอรับสัมปทาน
ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์
ธุรกิจแฟรนไชส์หรือธุรกิจแบบสัมปทานมี 2 ประเภทคือ
1. ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทานที่ใช้สินค้าและชื่อการค้า เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย หรือผู้ให้สัมปทานให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานหรือตัวแทนจำหน่าย ในการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งของผู้ให้สัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับชื่อสินค้า เครื่องหมายการค้า โดยถือเสมือนว่าเป็นผู้จำหน่ายในสายผลิตภัณฑ์เดียวกับผู้ให้สัมปทาน เช่น ตัวแทนจำหน่ายน้ำอัดลมโคคา-โคล่า สถานีบริการน้ำมันเชลล์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด เป็นต้น
2. ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทานที่ใช้รูปแบบทางธุรกิจ เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ให้สัมปทานให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานในการขายสินค้าหรือบริกี่โดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สัมปทาน เช่น พิซซ่าฮัท เคเอฟซี เซเว่น-อีเลฟเวน เป็นต้น
6.กิจการรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise)
กิจการรัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์กรของรัฐบาล หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานธุรกิจของรัฐบาลมีทุนรวมอยู่ด้วย เกินกว่าร้อยละ 50 มีการบริหารงานอยู่ระหว่างระบบราชการและระบบธุรกิจ
สาเหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
1.เพื่อหารายได้เข้ารัฐบาลนอกเหนือจากการเก็บภาษีอากร
2.เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน
3.เพื่อป้องกันการผูกขาดและการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการเอกชน
4.กิจการบางอย่างต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
5. เพื่อความมั่นคง ความสงบและความปลอดภัยของประเทศชาติ
6. เพื่อควบคุมการผลิต หรือการบริโภคสินค้าบางชนิด
7.เพื่อเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ
ประเภทของรัฐวิสาหกิจ
การจำแนกประเภทของรัฐวิสาหกิจไทย สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ ตามลักษณะ การจัดตั้งและจำแนกตามรายได้ที่นำส่งแก่รัฐ
1.จำแนกตามลักษณะการจัดตั้ง สามารถจำแนกได้ดังนี้
1.1 ประเภทองค์กรและโรงงาน
1.2 ประเภทสนักงานและกิจการอื่น
1.3 ประเภทธนาคารและบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50
1.4 แบ่งตามหน่วยงานที่รัฐวิสาหกิจสังกัด
2.จำแนกตามรายได้ที่นำส่งแก่รัฐ
2.1 รัฐวิสาหกิจประเภทผูกขาด
2.2 รัฐวิสาหกิจประเภทกึ่งผูกขาด
2.3 รัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค
2.4 รัฐวิสาหกิจประเภทอุตสาหกรรม
2.5 รัฐวิสาหกิจประเภทอื่นๆ
2.6 รัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด