เตรียมเปย์ไว้เฮปีหน้ากับมาตรการลดหย่อนภาษีปี 62
เตรียมเปย์ไว้เฮปีหน้ากับมาตรการลดหย่อนภาษีปี 62
มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เคยได้คำนวณกันหรือไม่ครับว่าในแต่ละเดือนเราต้องเสียภาษีกันเท่าไหร่ รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 91 กันช่วงต้นปี บางรายบริษัทไหนได้คิดคำนวณหักภาษีแบบเต็มจำนวนจากเงินได้เราไปแล้วอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่บางรายหากไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ระบบคำนวณออกมาต้องเสียภาษีเพิ่มเติม แถมไม่ได้วางแผนการลดหย่อนภาษีใดๆ ไว้เลย ก็อาจจะมีหน้ามืดกันไปได้เหมือนกัน ดังนั้นการเตรียมตัวล่วงหน้าเรื่องภาษีก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม
ล่าสุดในปี 2562 นี้ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 เหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยด้วยทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่น้อยลงแต่มีภาระค่าใช้จ่ายยังคงอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุนี้จึงได้ออกมาตรการภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้เกิดกระแสการหมุนเวียนในตลาด ถือว่าเป็นการช่วยกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน มาดูกันครับว่าเราพอจะช่วยเหลือรัฐบาลได้อย่างไรบ้าง
และเนื่องจาก พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร มาตรการภาษีข้อแรกที่เราโฟกัสจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เรามาเจาะกันไปทีละประเด็นกับคำถามที่สงสัยกันครับ
1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
เงื่อนไขการลดหย่อน : ซื้อเป็นบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท โอนกรรมสิทธิ์ภายใน 31 ธ.ค. 62
จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษีได้: สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทตามฐานภาษี
ระยะเวลาการซื้อและโอน: 30 เมษายน - 31 ธันวาคม 2562
หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี: เอกสารและหลักฐานการซื้อบ้าน-คอนโด
มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับคนอยากมีบ้านหลังแรก คืออะไร ?
รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยค่าลดหย่อนให้เป็นไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ได้เต็มจำนวนแต่เฉพาะภายในปี 2552 เท่านั้น จะเป็นบ้าน คอนโด ทาวน์เฮาส์ มือหนึ่งหรือมือสองก็ได้ แต่ต้องเป็นบ้านหลังแรกของเรา ทั้งนี้มีเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2019 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2019
ปี 62 นี้ ซื้อบ้าน-คอนโดอย่างไรให้ประหยัดต้นทุน
มาตรการนี้จะช่วยลดต้นทุนของผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกได้ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ตามฐานภาษีที่เสีย แต่ผู้มีเงินเดือนน้อยกว่า 25,000 บาทที่ซื้อบ้านหลังแรกจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ โดยต้นทุนที่ลดลงมาจากการประหยัดภาษีเงินได้ที่ได้จากค่าลดหย่อนที่มีเพิ่มขึ้นเพื่อหักออกจากเงินได้พึงประเมิน ก่อนนำไปคำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจะแตกต่างกันตามฐานภาษีที่ต้องชำระ โดยผู้ที่มีรายได้สูงจะได้รับประโยชน์ที่มากกว่าผู้มีรายได้น้อยซึ่งเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น ผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นผู้ที่เสียภาษีในอัตรา 35% จะได้ส่วนลดภาษีจากมาตรการนี้ไป 70,000 บาท ขณะที่ถ้าเป็นผู้เสียภาษีในอัตรา 5% จะได้ส่วนลดภาษีจากมาตรการนี้ไป 10,000 บาท เป็นต้น ขณะที่ผู้มีเงินเดือนน้อยกว่า 25,833 บาทต่อเดือน (กรณีโสด ไม่มีค่าลดหย่อนอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดที่ 60,000 บาทสำหรับผู้มีเงินได้ และไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม) จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
ตัวอย่างการซื้อคอนโดราคาไม่เกิน 5 ล้านเพื่อนำสิทธิ์ไปลดหย่อนภาษี
คุณเจฟ มีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน เสียภาษีในอัตราที่ 15% สนใจจะซื้อคอนโดมิเนียมหลังแรกในชีวิต แถวจตุจักร เป็นคอนโดมือสอง โครงการเดอะไลน์ จตุจักร-หมอชิต ราคา 5,000,000 บาท หากซื้อและทำการโอนภายใน 31 ธ.ค. 62 นี้ คุณเจฟจะสามารถยื่นหลักฐานการโอน หลักฐานการซื้อคอนโด เพื่อรับภาษีคืนในปี 63 ได้สูงสุด 30,000 บาท
เช่นเดียวกับคุณมาร์คที่กำลังมองหาคอนโดใกล้ที่ทำงานแถวประชาชื่น มองคอนโดมือสอง โครงการ เมโทร สกาย ประชาชื่น ราคา 3,000,000 บาท ไว้ตั้งใจจะซื้อและทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์เข้าอยู่เลยภายในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อถึงช่วงเวลาการยื่นภาษีภ.ง.ด. 91 ในช่วงต้นปี 63 คุณมาร์คสามารถเก็บหลักฐานการซื้อโอนต่างๆ ไว้ลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่คุณมาร์คมีรายได้สุทธิต่อปีอยู่ที่ 500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10% จะสามารถหย่อนได้สูงสุด 20,000 บาท
หาคอนโดที่คุณต้องการได้ที่นี่: คอนโดไม่เกิน 3 ล้านบาท, คอนโดราคา 3 - 5 ล้านบาท
หลักฐานในการใช้ขอลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกปี 62
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก อย่าลืมเตรียมหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมเพื่อประกอบการยื่นภาษี ซึ่งมีดังนี้
1. หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่)
2. หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่)
3. สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน (ท.ด. ๑๓) มีตราครุฑ
4. สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน) อันนี้ตัวจริงคุณต้องได้จากธนาคารมาอยู่แล้ว
***หมายเหตุ มาตรการซื้อบ้าน หรือ คอนโด ลดหย่อนภาษี ปี 2562 นี้ยังไม่มีประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ รายละเอียดที่ออกมาเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ให้รอประกาศระเบียบวิธีการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากรอีกครั้ง***
· วิธีการหักลดหย่อนภาษี บ้านหลังแรก สำหรับมือใหม่
· เงินบริจาคลดหย่อนภาษี อิ่มใจได้บุญ ลดหย่อนได้ 2 เท่า
2. มาตรการภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
เงื่อนไขการลดหย่อน : นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ ค่าที่พักในโรงแรม โฮมเสตย์ ค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษีได้: ท่องเที่ยวเมืองหลักลดหย่อนได้ 15,000 และเมืองรองลดหย่อนได้ 20,000 บาท รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20,000 บาท
ระยะเวลาการเที่ยว: 30 เมษายน - 30 มิถุนายน 2562
หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี: ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยต้องระบุชื่อผู้มีเงินได้ที่จ่ายเงิน จำนวนเงิน รวมทั้งวัน เดือน ปี ที่จ่ายเงินไว้อย่างชัดเจน (ใบจองห้องพัก หรือใบเสร็จจากเว็บไซต์ที่ให้บริการจองโรงแรม ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีได้)
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนภาษี
ตรวจสอบเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เที่ยวเมืองหลัก 22 จังหวัดมีที่ไหนบ้าง? ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
เชียงใหม่, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และสระบุรี
เที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 20,000 บาท
ภาพประกอบจาก www.kapook.com
3. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา
เงื่อนไขการลดหย่อน : สำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา เช่น ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต
จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษีได้: ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท
ระยะเวลาการจับจ่ายใช้สอย: 1 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2562
หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี: ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน หนังสือและ E-Book
เงื่อนไขการลดหย่อน : สำหรับการซื้อสินค้าหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ (ทุกประเภท ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) รวมทั้ง e-Book และต้องซื้อจากร้านที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษีได้: ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท รวมกับยอดจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ตั้งแต่วันที่ 1-16 มกราคม 2562 แล้วด้วย เช่น ซื้อหนังสือไปในโครงการช็อปช่วยชาติไปแล้ว 3,000 บาท จะสามารถซื้อได้อีก 12,000 บาท
ระยะเวลาการจับจ่ายใช้สอย: 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562
หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี: ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย OTOP
เงื่อนไขการลดหย่อน : สำหรับการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษีได้: ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท
ระยะเวลาการจับจ่ายใช้สอย: วันนี้ - 30 มิถุนายน 2562
หลักฐานที่ใช้ลดหย่อนภาษี: ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ทั้ง 5 กลุ่มที่พลัส พร็อพเพอร์ตี้นำมาฝากนี้ สามารถนำไปวางแผนภาษีได้ตามกำลัง และความสะดวกได้เลย ใครสายเที่ยวก็จัดแจงแพ็คกระเป๋าชวนเพื่อนและครอบครัวไปพักผ่อน สายช้อป หนอนหนังสือ แต่ถ้าใครกำลังหาซื้อคอนโดในทำเลต่างๆ หรือช่วงราคาที่กำลังสนใจให้พลัส พร็อพเพอร์ตี้เป็นผู้ช่วยแนะนำคอนโดในฝันได้นะครับ จะคอนโดเล็ก คอนโดใหญ่ ความต้องการแบบไหน เอกสารและการกู้ธนาคาร ปรึกษาเราได้เลย
ทั้งนี้ก็อย่าลืมคำนวณกันก่อนนะครับว่าแท้จริงแล้วจะสามารถลดหย่อนได้มากหรือน้อยเท่าไหร่ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน หรือเก็บหลักฐานไว้ไม่ครบ ก็ไม่สามารถลดหย่อนได้นะครับ
ที่สำคัญ ***มาตรการลดหย่อนภาษีกลางปี 2562 นี้ยังไม่มีประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ รายละเอียดที่ออกมาเป็นเพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ให้รอประกาศระเบียบวิธีการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากรอีกครั้ง***
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office
กรมสรรพากร