วิธียื่นภาษีออนไลน์ 2565 ฉบับมือใหม่ทำตามได้ง่ายสุด ๆ
เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีปี 2565 มาศึกษาวิธีการยื่นภาษีออนไลน์กันเถอะ!
สำหรับคนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือชาวฟรีแลนซ์ หน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำทุกปีคือการ “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”
บทความนี้เราจึงสรุป “วิธียื่นภาษีออนไลน์ ฉบับมือใหม่ทำตามได้ง่ายสุด ๆ” มาฝากทุกคนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2566 ที่จะถึงนี้กัน จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ติดตามไปพร้อมกันได้เลย!
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?
กรมสรรพากรได้นิยามความหมายของคำว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ไว้ว่า
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีท่ีจัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีท่ีมีลักษณะพิเศษ ตามท่ีกฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ท่ีกำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ท่ีเกิดข้ึนในปีใด ๆ ผู้มีรายได้มีหน้าท่ีต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีท่ีกำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
ใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
คนไทยทุกคนที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งเกณฑ์ตามสถานะโสดและสมรส โดยมีรายละเอียดดังนี้
- คนโสดที่มีรายได้เป็นเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาท ต่อเดือน (ภ.ง.ด. 91) หรือ 120,000 บาท ต่อปี รวมถึงคนโสดที่มีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน (ภ.ง.ด. 90) ตั้งแต่ 5,000 บาท ต่อเดือน หรือ 60,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
- คนที่สมรสแล้วที่มีรายได้เป็นเงินเดือน (ภ.ง.ด. 91) ตั้งแต่ 18,333 บาท ต่อเดือน หรือ 220,000 บาท ต่อปี รวมถึงคนที่สมรสแล้วที่มีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน (ภ.ง.ด. 90) ตั้งแต่ 10,000 บาท ต่อเดือน หรือ 120,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
อ่านเพิ่มเติม สรุปวิธีคำนวณภาษี: รายได้เท่าไรต้องเสียภาษีเท่าไร?
ต้องยื่นภาษีเงินได้เมื่อไร?
ปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้เกิดขึ้นในปี 2565 (ปีภาษี 2565) ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2566
หากเป็นเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นภาษีตอนกลางปี ภายในเดือนกันยายนของทุกปี
เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นภาษีออนไลน์
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว และ ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับยื่นภาษีดังนี้
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) โดยเป็นเอกสารที่แสดงถึงรายได้รวมทั้งปี หลังจากหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่าง ๆ – อ่านเพิ่มเติม ใบทวิ 50 คืออะไร ขอได้ที่ไหน? I TAX เพื่อนๆ EP7
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีเพื่อประกอบการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน เบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
วิธียื่นภาษีออนไลน์ ฉบับมือใหม่ทำตามได้ง่ายสุด ๆ
ขั้นตอนที่ 1: เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/ และเลือก “ยื่นแบบออนไลน์”
หากท่านใดยังไม่มีบัญชีให้กด “สมัครสมาชิก” ก่อน โดยระบบจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร) วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ อีเมล พร้อมสร้างรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบ E-filing สำหรับยื่นภาษีออนไลน์
ขั้นตอนที่ 2: เข้าสู่ระบบ E-filing ของกรมสรรพากร
เข้าสู่ระบบ E-filing โดยการกรอกเลขบัตรประชาชนในช่องชื่อผู้ใช้งาน พร้อมกรอกรหัสผ่าน และกด “ตกลง” จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP 6 หลัก ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ
ขั้นตอนที่ 3: เลือกยื่นแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91
อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร จากนั้นกด “เข้าสู่ระบบ” และเลือก “ยื่นแบบ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91
ขั้นตอนที่ 4: กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี
ตรวจสอบข้อมูลผู้เสียภาษี ได้แก่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และสถานที่ติดต่อ จากนั้นเลือกสถานะ และกด “ถัดไป”
ขั้นตอนที่ 5: กรอกเงินได้
กรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือน โดยนำข้อมูลมาจากหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) พร้อมกรอกเลขผู้จ่ายเงินได้ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่เราทำงานอยู่)
ทั้งนี้สำหรับคนที่เปลี่ยนที่ทำงานระหว่างปีให้ขอหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) กับที่ทำงานเก่าเพื่อนำมากรอกข้อมูลยื่นภาษีเงินได้
และหากใครมีรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น รายได้จากฟรีแลนซ์ รับจ้างทั่วไป และวิชาชีพอิสระ, รายได้จากทรัพย์สิน และการทำธุรกิจ, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดกหรือได้รับมา ให้กรอกข้อมูลลงไปด้วย
หลังจากกรอกข้อมูลเงินได้เรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
ขั้นตอนที่ 6: กรอกค่าลดหย่อน
กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่มี เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าลดหย่อนบุตร เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF-RMF และเงินบริจาค เป็นต้น
หลังจากกรอกข้อมูลค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
อ่านเพิ่มเติม ลดหย่อนภาษี: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!
ใครสนใจประหยัดภาษีด้วยการลงทุนในกองทุน SSF-RMF ทาง FINNOMENA ก็มีความคุ้มแบบฟินฟินมานำเสนอให้ลูกค้าใหม่เช่นกัน ซึ่งหากเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA วันนี้ คุ้มที่ 1 รับฟรี! 100 FINT โดยสามารถนำ 100 FINT มาแลกรับ Cashback เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมการซื้อกองทุนได้สูงสุดถึง 2,000 บาท คุ้มต่อที่ 2 หากเปิดบัญชีกองทุนลดหย่อนภาษี SSF-RMF ด้วย วันนี้ รับฟรี! หน่วยลงทุนกองทุน KCASH เพิ่มอีกมูลค่า 100 บาท โปรโมชันคุ้ม ๆ แบบนี้มีถึงแค่วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เท่านั้นนะ ใครพร้อมรับความคุ้มแบบฟินฟินที่ FINNOMENA ตั้งใจนำมามอบให้แล้ว ก็เปิดบัญชีเพื่อเริ่มลงทุนได้เลย! ดูรายละเอียดโปรโมชันเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ขั้นตอนที่ 7: ตรวจสอบข้อมูล
ตรวจสอบข้อมูลเงินได้และค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ได้กรอกไป โดยระบบจะทำการคำนวณภาษีที่ต้องชำระให้อัตโนมัติ ซึ่งหากมีการชำระภาษีไปแล้วระบบจะแจ้งยอดที่ชำระเกิน โดยสามารถขอคืนภาษีที่ชำระเกินได้ รวมถึงนำเงินภาษีที่ชำระเกินไปอุดหนุนพรรคการเมืองได้
หลังจากตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
ขั้นตอนที่ 8: ยืนยันการยื่นแบบ
เมื่อตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว กด “ยืนยันการยื่นแบบ” เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางออนไลน์
ผลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีไม่มีภาษีต้องชำระ หรือมีภาษีชำระไว้เกิน
ในกรณีไม่มีภาษีต้องชำระ ระบบจะแจ้งผลการยื่นแบบและหมายเลขอ้างอิง พร้อมออกเอกสารแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบ
กรณีมีภาษีชำระไว้เกิน กรมสรรพากรจะทำการอนุมัติคืนภาษีให้ทันที โดยสามารถเลือกรับคืนเงินภาษีที่ชำระเกินได้ทั้งช่องทางพร้อมเพย์ และบัญชีของธนาคารกรุงไทย พร้อมติดตามสถานะคืนเงินภาษีได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://www.rd.go.th/
กรณีมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม
ในกรณีมีภาษีต้องชำระเพิ่มสามารถเลือกชำระภาษีได้หลายช่องทาง ได้แก่ QR Code, E-Payment, Internet Credit Card, ATM on Internet, บัตรภาษี และชำระผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น Pay-In Slip ผ่านช่องทาง Counter Service, Tele-Banking และอื่น ๆ
ทั้งนี้หากมียอดภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป สามารถเลือกผ่อนชำระภาษีได้สูงสุด 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่ชำระเงินภายในวันที่กำหนด (หากไม่ชำระภายในวันที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ) โดยระบบจะคำนวณยอดชำระพร้อมกำหนดวันที่ต้องชำระให้ทั้ง 3 งวด และจะมี SMS จากกรมสรรพากรแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดวันที่ต้องชำระภาษี