รายวิชาโปรแกรมกราฟิกส์

ใบความรู้ ที่ 1
เรื่อง พื้นฐานคอมพิวเตอร์กราฟิก
  1. ความหมายของกราฟิกและคอมพิวเตอร์กราฟิก

กราฟิก(Graphics) เป็นคำที่เกิดขึ้นจากรากศัพท์ภาษากรีก คือคำว่า “Graphikos” หมายถึง การเขียนภาพด้วยสีและลักษณะขาวดำ และรวมกับคำว่า “Graphien” หมายถึง การเขียนตัวหนังสือและการสื่อความหมายโดยการใช้เส้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กราฟิก หมายถึง การสื่อความคิดโดยการใช้ภาพ สัญลักษณ์ และข้อความกราฟิกในยุคแรก ๆ จะเริ่มตั้งแต่การวาดภาพลายเส้น การวาดภาพเหมือนจริง มาจนถึงการใช้ภาพถ่ายเหมือนจริง และเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาสู่ยุคดิจิตอล จึงมีการใช้คอมพิวเตอร์มาสร้างงานกราฟิกดังนั้นคำนิยามของคำว่า “คอมพิวเตอร์กราฟิก” จึงหมายถึง การสื่อความคิดโดยการใช้คอมพิวเตอร์สร้างและจัดการกับภาพ สัญลักษณ์ และข้อความ
งานกราฟิก หมายถึง งานการวางแผนทางศิลปะและการทำหัวเรื่อง โดยรู้ขนาดและสัดส่วนหลักในการออกแบบ รวมถึงการใช้สีเป็นองค์ประกอบเพื่อเน้นและดึงดูดความสนใจให้มากขึ้น และเป็นการช่วยให้ได้รายละเอียดชัดเจนของวัสดุที่ใช้ประกอบการสอน และยังมีความหมายรวมไปถึงการผนึกภาพ ภาพถ่าย รูปถ่าย อีกด้วย
กราฟิก หมายถึง ศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งใช้สื่อความหมายด้วยเส้น สัญลักษณ์ รูปวาด ภาพถ่าย กราฟ กราฟิก แผนภูมิ การ์ตูน ฯลฯ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายข้อมูลได้ถูกต้องต้องตามที่ผู้สื่อสารต้องการ

1.2 ภาพบนคอมพิวเตอร์เกิดได้อย่างไร
ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปนั้น เกิดจากจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของสี ที่เราเรียกว่า พิกเซล มาประกอบกันเป็นภาพขนาดต่างๆ นั่นเอง
พิกเซล (Pixel) มาจากคำว่า Picture และคำว่า Element แปลตรงตัว ก็คือ องค์ประกอบที่รวมกันเกิดเป็นภาพ ซึ่งสรุปก็หมายถึงจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบรวมกันเป็นภาพความละเอียดของภาพ เป็นจำนวนของพิกเซลที่อยู่ภายในภาพ โดยใช้หน่วยวัดเป็นพิกเซลต่อนิ้ว (ppi : Pixel per Inch) เช่น 300 ppi หรือ 600 ppi เป็นต้น ภาพที่มีความละเอียดมากก็จะมีความชัดกว่าภาพที่มีความละเอียดน้อยเราจะพบว่าไฟล์ภาพเดียวกันเมื่อนำไปแสดงผลออกมาผ่านอุปกรณ์ที่ต่างกัน ก็จะส่งผลให้ได้ภาพที่ออกมามีความคมชัดหรือความละเอียดไม่เท่ากันได้ เช่น ภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และภาพที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์เลเซอร์ เพราะขนาดพิกเซลหรือจุดเล็กๆ ที่ทำให้เกิดภาพมีขนาดที่ไม่เท่ากันนั่นเอง

ความละเอียดของจอภาพ เป็นหน่วยที่ใช้วัดจำนวนพิกเซลสูงสุดที่จอคอมพิวเตอร์สามารถผลิตออกมาได้ ซึ่งความละเอียดของจอภาพนั้น เกิดขึ้นโดยวีดีโอการ์ดหรือการ์ดจอ และควบคุมการทำงานด้วยซอฟท์แวร์บน Windows ดังนั้นเราสามารถตั้งค่าการแสดงความละเอียดของจอภาพบน Windows ได้ เช่น 800x600 หรือ 1024x768ความละเอียด 1027x768 หมายถึง จำนวนวีดีโอพิกเซลในแนวนอน 1024 พิกเซลและจำนวนวีดีโอพิกเซลในแนวตั้ง 768 พิกเซล

ความละเอียดของเครื่องพิมพ์ เป็นหน่วยที่ใช้วัดจำนวนพิกเซลต่อนิ้ว ซึ่งจุดพิกเซลในเครื่องพิมพ์เราเรียกว่า ดอท (dot) ดังนั้นหน่วยที่ใช้วัดความละเอียดของเครื่องพิมพ์จะถูกเรียกว่า dpi (Dot per Inch) เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ซึ่งมีขนาดของพิกเซลที่เที่ยงตรง มีความละเอียดในการพิมพ์ที่ 600 dpi ก็แสดงว่ามีความสามารถพิมพ์ได้ 600 จุดทุก ๆ 1 นิ้วความละเอียดของอิมเมจเซตเตอร์ อิมเมจเซตเตอร์ (Imagesetter) คือ เครื่องพิมพ์ที่มีความละเอียดสูงตั้งแต่ 1,200-4,800 dpi ซึ่งผลิตจุดเลเซอร์ได้เล็กมาก โดยสามารถวัดขนาดได้ด้วยหน่วยวัดเป็นไมครอน (1 ส่วนล้านเมตร หรือ 1 ส่วน 1000 มิลลิเมตร)

3 การประมวลผลภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก
ภาพที่เก็บในคอมพิวเตอร์นั้น มีวิธีการประมวลผลภาพ 2 แบบแตกต่างกันไปตามแต่ละโปรแกรมดังนี้ คือ
    1. การประมวลผลแบบ Raster

เป็นการประมวลแบบอาศัยการอ่านค่าสีในแต่ละพิกเซล มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Bitmap จะเก็บข้อมูลเป็นค่า 0 และ 1 แต่ละพิกเซลจะมีการเก็บค่าสีที่เจาะจงในแต่ละตำแหน่ง ซึ่งเหมาะกับภาพที่มีลักษณะแบบภาพถ่าย ซึ่งสามารถใช้เทคนิคในการปรับแต่งสี และการใช้เอฟเฟคต์พิเศษให้กับภาพ แต่มีข้อเสีย คือ ภาพที่ได้จะมีไฟล์ขนาดใหญ่และเมื่อมีการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้พิกเซลของภาพมีขนาดใหญ่ตามด้วย เราจึงเห็นว่าภาพจะไม่ละเอียดหรือแตกนั่นเอง
การประมวลผลแบบ Raster ได้แก่ ไฟล์ภาพ .TIF, .GIF, .JPG, .BMP และ .PCX เป็นต้น โดยโปรแกรมที่ใช้ทำงานกับภาพ Raster คือ Photoshop, PhotoPaint และPaintbrush เป็นต้น
3.2 การประมวลผลแบบ Vector
เป็นการประมวลผลแบบอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยมีสีและตำแหน่งของสีที่แน่นอน ฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีการเคลื่อนย้ายที่หรือย่อขยายขนาดของภาพ ภาพก็จะไม่เสียรูปทรงในเชิงเรขาคณิต และความละเอียดของภาพจะไม่ลดลงด้วย จึงทำให้ภาพยังคงคมชัดเหมือนเดิม แม้ขนาดของภาพจะเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงก็ตาม แต่มีข้อเสียที่ไม่สามารถใช้เอฟเฟคต์ในการปรับแต่งภาพได้เหมือนกับภาพแบบ Raster
การประมวลผลภาพลักษณะนี้ ได้แก่ภาพ .AI, .DRW ใช้ในโปรแกรมการวาดภาพ Illustrator, CorelDraw ภาพ .WMF เป็นภาพคลิปอาร์ตในโปรแกรม Microsoft Word และภาพ .PLT ในโปรแกรมการออกแบบ AutoCAD

3.4 ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสีสีที่เรามองเห็นรอบๆ ตัวนั้น เกิดขึ้นได้จากการที่ตาของเรารับแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุเหล่านั้น ซึ่งความยาวของคลื่นแสงที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้เรามองเห็นสีที่แตกต่างกันด้วย และสำหรับงานคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นจะมีการผสมสีที่เกิดจากแสงแสดงบนจอภาพ หรือการผสมหมึกสีพิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์
3.5 ความลึกของสี ( Bit Depth ) คอมพิวเตอร์สามารถสร้างและแสดงสีในภาพได้เป็นหลายล้านสี ดังนั้น คอมพิวเตอร์จะมีวิธีการจดจำและอ้างอิงค่าสีโดยอาศัยดัชนีเป็นตารางสี ตัวอย่างเช่น การ์ดจอที่สามารถแสดงสีได้ 2 บิต ก็จะแสดงสีได้ 4 สี เพราะเนื่องจากคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลใน 1 บิต ได้ 2 ค่า คือ 0 และ 1 เราจึงสามารถคำนวณจำนวนสีได้ตามสูตร คือ

จำนวนสีที่แสดงได้ = 2 ยกกำลังด้วย จำนวนบิต

เช่น การ์ดจอที่สามารถแสดงสีได้ 24 บิต ก็จะแสดงสีได้ = 224 = 16.7 ล้านสี เป็นต้น
ปัจจุบันเราจะพบว่าการแสดงผลภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์กราฟิก สามารถแสดงสีได้ตั้งแต่ 16.7 ล้านสีขึ้นไป เนื่องจากการ์ดจอส่วนใหญ่สามารถแสดงสีได้ตั้งแต่ 24 บิตไปจนถึง 32 และ 64 บิต
3.6 โมเดลของสี ( Color Model ) โดยทั่วไปแล้วสีต่างๆ ในธรรมชาติและสีที่ถูกสร้างขึ้น จะมีรูปแบบการมองเห็นสีที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบการมองเห็นสีนี้เรียกว่า “โมเดล (Model)” ดังนั้น จึงทำให้มีโมเดลหลายแบบดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไปนี้ คือ
  1. โมเดลแบบ HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์

  2. โมเดลแบบ RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์

  3. โมเดลแบบ CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์

  4. โมเดล Lab ตามมาตรฐานของ CIE

3.7 โมเดลแบบ HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์
เป็นลักษณะพื้นฐานการมองเห็นสีด้วยสายตาของมนุษย์ โมเดล HSB จะประกอบด้วยลักษณะของสี 3 ลักษณะคือ
1. Hue เป็นสีของวัตถุที่สะท้อนเข้ามายังตาของเรา ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุเป็นสีได้ ซึ่งแต่ละสีจะแตกต่างกันตามความยาวของคลื่นแสงที่มากระทบวัตถุและสะท้อนกลับที่มีตาของเรา Hue ถูกวัดโดยตำแหน่งการแสดงสีบน Standard Color Wheel ซึ่งถูกแทนด้วยองศา คือ 0 ถึง 360 องศา แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วมักจะเรียกการแสดงสีนั้นๆ เป็นชื่อของสีเลย เช่น สีแดง สีม่วง สีเหลือง
2. Saturation คือสัดส่วนของสีเทาที่มีอยู่ในสีนั้น โดยวัดค่าสีเทาในสีหลักเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้คือ จาก 0% (สีเทาผสมอยู่มาก) จนถึง 100% (สีเทาไม่มีเลย หรือเรียกว่า “Full Saturation” คือสีที่มีความอิ่มตัวเต็มที่) โดยค่า Saturation นี้จะบ่งบอกถึงความเข้มข้นและความจางของสี ถ้าถูกวัดโดยตำแหน่งบน Standard Color Wheel ค่า Saturation จะเพิ่มขึ้นจากจุดกึ่งกลางจนถึงเส้นขอบ โดยค่าที่เส้นขอบจะมีสีที่ชัดเจนและอิ่มตัวที่สุด
3. Brightness เป็นเรื่องราวของความสว่างและความมืดของสี ซึ่งถูกกำหนดค่าเป็นเปอร์เซ็นต์จาก 0% (สีดำ) ถึง 100% (สีขาว) ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์มากจะทำให้สีนั้นสว่างมากขึ้น
3.4 โมเดลแบบ RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์โมเดล RGB เกิดจากการรวมกันของสเปกตรัมของแสงสี แดง (Red), เขียว (Green), และน้ำเงิน (Blue) ในสัดส่วนความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยจุดที่แสงทั้งสามสีรวมกันจะเป็นสีขาว นิยมเรียกการผสมสีแบบนี้ว่า “Additive” แสงสี RGB มักจะถูกใช้สำหรับการส่องแสงทั้งบนจอภาพทีวีและจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างจากการที่ให้กำเนิดแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ทำให้สีดูสว่างกว่าความเป็นจริง
3.5 โมเดลแบบ CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์โมเดล CMYK มีแหล่งกำเนิดสีอยู่ที่การซึมซับ (Absorb) ของหมึกพิมพ์บนกระดาษ โดยมีสีพื้นฐานคือสีฟ้า (Cyan), สีบานเย็น (Magenta), และสีเหลือง (Yellow) โดยเรียกการผสมสีทั้ง 3 สีข้างต้นว่า “Subtractive Color” แต่สี CMYK ก็ไม่สามารถผสมรวมกันให้ได้สีบางสี เช่น สีน้ำตาล จึงต้องมีการเพิ่มสีดำ (Black) ลงไป ฉะนั้นเมื่อรวมกันทั้ง 4 สี คือ CMYK สีที่ได้จากการพิมพ์ จึงจะครอบคลุมทุกสี
3.6 โมเดลแบบ Lab ตามมาตรฐานของ CIEโมเดล Lab เป็นค่าสีที่ถูกกำหนดขึ้นโดย CIE (Commission Internationale d’ Eclarirage) ให้เป็นสีมาตรฐานกลางของการวัดสีทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกสีใน RGB และ CMYK และใช้ได้กับสีที่เกิดจากอุปกรณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนและอื่นๆ ส่วนประกอบของโหมดสีนี้ได้แก่
- L หมายถึง ค่าความสว่าง (Luminance)
- A หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีเขียวไปยังสีแดง
- B หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีน้ำเงินถึงสีเหลือง
3.7 ระบบสีที่ถูกกำหนดขึ้นพิเศษเป็นระบบสีที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ในงานคอมพิวเตอร์กราฟิก และอยู่นอกเหนือ จากโมเดลของสีทั่วไป ดังนี้
- Bitmap ประกอบด้วยค่าสีเพียง 2 สี คือสีขาวและสีดำ ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพียง 1 บิต งานที่เหมาะสำหรับ Bitmap คืองานประเภทลายเส้นต่าง ๆ เช่น เครื่องหมาย และโลโก้
- Gray Scale ประกอบด้วยสีทั้งหมด 256 สี โดยไล่สีจากสีขาว สีเทาไปเรื่อยๆ จนท้ายสุดคือสีดำ ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูล 8 บิต
- Duotone เป็นโหมดที่เกิดจากการใช้สีเพียงบางสีมาผสมกันให้เกิดเป็นภาพ เรามักจะเห็นการนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์ที่ต้องการใช้ภาพ 2 สี เป็นต้น
- Indexed color ถึงแม้บางภาพจะมีสีได้ถึง 16.7 ล้าน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ไม่ถึง ในกรณีที่เราต้องการลดขนาดไฟล์ภาพก็อาจใช้โหมดนี้ ซึ่งจะทอนสีให้เหลือใกล้เคียงกับที่ต้องใช้ โดยไม่มีผลกับคุณภาพของภาพ
- Multichannel เป็นโหมดสีที่ถูกแสดงด้วย Channel ตั้งแต่ 2 Channel ขึ้นไป ใช้ประโยชน์มากสำหรับงานพิมพ์ โดยเฉพาะกรณีการพิมพ์ที่สั่งให้พิมพ์สีพิเศษ
5 ประโยชน์ของงานคอมพิวเตอร์กราฟิก
5.1 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการช่วยสอน
ปัจจุบันภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกได้ช่วยสื่อความหมายในการสอน หรืออธิบายเนื้อหาในเรื่องที่ซับซ้อนให้ผู้เรียนเห็นภาพแล้วเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเราเรียกสื่อการสอนเหล่านี้ว่า โปรแกรมช่วยสอน CAI (Computer Aided Instruction) เช่น โปรแกรมช่วยสอนการทำงานของเครื่องยนต์และเครื่องจักรกล โปรแกรมช่วยสอนทางการแพทย์ และโปรแกรมช่วยสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
5.2 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการออกแบบ
คอมพิวเตอร์กราฟิกในงานออกแบบ หรือที่เรียกว่า CAD (Computer Aided Design) เป็นการใช้โปรแกรมช่วยออกแบบและสร้างชิ้นงานจำลองก่อนที่จะสร้างงานจริง ซึ่งช่วยเราปรับแต่งและแก้ไขได้ก่อนทำงานจริง เพื่อช่วยลดความผิดพลาด เวลา ค่าใช้จ่าย และได้ผลงานตรงกับที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งได้แก่ โปรแกรมการออกแบบในงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เป็นต้น
5.3 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับกราฟและแผนภาพ
เป็นการใช้โปรแกรมสำหรับสร้างกราฟและแผนภาพ เพื่อแสดงข้อมูลทางด้านสถิติและงานวิจัย เช่น กราฟเส้น กราฟวงกลม และกราฟแท่ง เป็นต้น
5.4 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานศิลปะ
เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการวาดภาพ ระบายสี และใส่แสงเงา ซึ่งมีข้อดีตรงที่เราสามารถลบและแก้ไขในส่วนการทำงานที่ผิดพลาดได้ตามต้องการ โดยไม่ทำให้เสียเวลาและไม่สิ้นเปลืองวัสดุเหมือนกับการวาดภาพบนกระดาษ หรือผืนผ้าใบแบบสมัยก่อน
5.5 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการทำภาพเคลื่อนไหว
เป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ใช้ในการออกแบบและกำหนดให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือเรียกว่า Computer Animation เช่น การ์ตูน และภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังประยุกต์สร้างเป็นเกมที่เน้นความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้นด้วย
5.6 คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการประมวลผลภาพ ( Image Processing)
เป็นการประมวลผลภาพที่ได้จากการสแกนหรือถ่ายภาพ ให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการรับสีและแสงเงาที่อยู่บนภาพและวัตถุ มาประมวลผลเป็นข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล จากนั้นแสดงเป็นภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราจะพบได้ในการสแกนภาพ การถ่ายภาพผ่านดาวเทียม และการเอ็กซเรย์ เป็นต้น
5.7 อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานกราฟิก
เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการสร้างงานกราฟิกได้หลายประเภทดังนั้นจึงมีอุปกรณ์มากมายที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในงานกราฟิกที่พบเห็นกันบ่อยๆ มีดังนี้
6 อุปกรณ์ในการนำเข้า (Input Devices) เช่น
- สแกนเนอร์ (Scanner)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่าน หรือสแกนข้อมูลหรือภาพถ่ายบนเอกสารเข้าไปในเครื่อง โดยใช้แสงส่องกระทบวัตถุให้สะท้อนไปตกบนตัวรับแสงทีละแถว ซึ่งข้อมูลจะถูกแปลงเป็นจุดเล็กๆ ในแบบดิจิตอลเข้าไปเก็บในเครื่องพีซี เมื่อต้นกำเนิดแสงและตัวรับแสงเลื่อนไป ภาพที่ได้จะเป็นส่วนต่าง ๆ ของภาพ ต่อเนื่องกันไปทีละแถวของจุดจนกว่าจะสุดภาพ
- กล้องดิจิตอล (Digital Camera)
เราสามารถถ่ายภาพในรูปแบบดิจิตอล ที่มีความละเอียดสูงโดยตรงจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอล ถึง 3-4 ล้านพิกเซลขึ้นไป ซึ่งเหมาะกับการใช้งานกราฟิก
- จอสัมผัส (Touch Screen)
เป็นหน้าจอที่ยอมให้ผู้ใช้ใช้นิ้วชี้ที่หน้าจอ เพื่อเลือกเมนูบนหน้าจอได้ งานที่นิยมใช้หน้าจอแบบทัชสกรีน เช่น เครื่อง ATM (Automate Teller Machines), ร้านขายยา, และซูเปอร์มาร์เก็ต
 
- ปากกาแสง (Light Pen)
เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลที่ทำงานด้วยการตรวจจับแสงบนหน้าจอ CTR ของคอมพิวเตอร์ ใช้ในการคลิกเลือก และวาดบนหน้าจอเหมือนการใช้ Touch Screen แต่จะทำงานด้วยการตรวจจับแสงซึ่งใช้กับจอ CTR เท่านั่น ไม่สามารถทำงานกับจอ LCD หรือ Projector ได้
- กระดานกราฟิก (Graphics Tablet)
เป็นอุปกรณ์ที่รองรับการวาดภาพ ซึ่งสามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง สนับสนุนกับโปรแกรมกราฟิกต่างๆ เช่น Photoshop, Illustrator เป็นต้น จึงทำให้เราสามารถวาดภาพ และแก้ไขภาพได้ ซึ่งจะแสดงผลเป็นภาพอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นหน้าจอ TFT เหมือนเครื่อง Tablet PC ซึ่งเราสามารถวาดภาพอยู่บนหน้าจอแสดงผลได้โดยตรง
7. อุปกรณ์ในการแสดงผล (Output Devices) เช่น
- เครื่องพิมพ์ (Printer)
เครื่องพิมพ์ที่ใช้แสดงผลงานลงบนกระดาษได้ทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบเพื่อการนำไปใช้งานต่างกัน ดังนี้
* เลเซอร์พรินเตอร์
ทำงานโดยการยิงลำแสงเลเซอร์ เพื่อจัดเรียงผงหมึกให้เกิดเป็นภาพที่ต้องการ จากนั้นก็ใช้แรงดันและความร้อนผลักให้หมึกจับตัวติดกับเนื้อกระดาษ ผลลัพธ์จะมีความละเอียดมากที่สุด และมีความเร็วสูงสุดในบรรดาเครื่องพิมพ์ทั้งหมด เครื่องพิมพ์เลเซอร์มี 2 แบบ คือ ขาว/ดำ และสี ซึ่งแบบขาว/ดำ จะมีราคาอยู่ที่หมื่นกว่าบาท นิยมใช้ในงานพิมพ์เอกสารในสำนักงาน ส่วนแบบสีจะมีราคาอยู่ที่แสนกว่าบาท ซึ่งเหมาะกับงานกราฟิกชั้นสูง
* อิงค์เจ็ตพรินเตอร์ (Inkjet Printer)
ใช้หลักการพ่นหมึกผ่านทางท่อพ่นหมึกเล็ก โดยให้เกิดจุดสีเล็กๆ เรียงต่อกันจนเกิดเป็นภาพ จะมีความละเอียดน้อยกว่าเลเซอร์นิดหน่อย ราคาเครื่องถูก แต่หมึกแพง และพิมพ์ช้ากว่าเลเซอร์จะเหมาะสำหรับงานสี อาร์ตเวิร์ค สิ่งพิมพ์ และถ่ายสติ๊กเกอร์ หากจะใช้พิมพ์งานเอกสารสำนักงานทั่วไปที่เป็นสีขาวดำ ราคาหมึกต่อแผ่นจะสู้ใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ไม่ได้ อีกทั้งความละเอียด และความเร็วน้อยกว่ามาก
* ดอตเมทริกซ์พรินเตอร์ (Dot Matrix Printer)
จะใช้หัวเข็มกระแทกลงบนแผ่นหมึกคาร์บอน ทำให้เกิดรอยหมึกเป็นข้อความและภาพ ดอตเมทริกซ์เป็นพรินเตอร์ที่มีความละเอียดต่ำ ราคาหมึกถูก ราคาเครื่องปานกลาง แต่พิมพ์ช้าและมีเสียงดัง ไม่ค่อยนิยมใช้ในปัจจุบัน แต่มีประโยชน์ในด้านการทำกระดาษไขสำหรับงาน โรเนียวเอกสารและการพิมพ์โดยซ้อนกระดาษ Carbon (แต่ยังมีการใช้งานอยู่เป็นจำนวนมากในหน่วยงานราชการทั่วไป)
* พล็อตเตอร์ (Plotter)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วาดภาพบนกระดาษ โดยการรับคำสั่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่จะทำงานแตกต่างจากพรินเตอร์ตรงที่พล็อตเตอร์จะวาดภาพโดยการวาดเป็นเส้น ด้วยปากกาแต่ละสีวาดผสมกัน ส่วนเครื่องพิมพ์จะพิมพ์ลงมาเป็นจุดสีคละกันทำให้เรามองดูเกิดเป็นภาพ เราจะใช้พล็อตเตอร์ในการวาดแบบอาคาร หรือแบบทางวิศวกรรม ที่ถูกสร้างด้วยโปรแกรมออกแบบต่างๆ
1.7 การพิมพ์ภาพในคอมพิวเตอร์กราฟิก
17.1 ความละเอียดของเครื่องพิมพ์
เราใช้หน่วยวัดความละเอียดของเครื่องพิมพ์ด้วย จำนวนจุดพิกเซลต่อนิ้ว เรียกว่า dpi (Dot per Inch) ตัวอย่าง เช่น เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ จะมีความละเอียดในการพิมพ์ที่ 600-1,200 dpi
1.7.2 รูปแบบการพิมพ์ภาพ
- การพิมพ์ภาพแบบฮาล์ฟโทน ( Half Tone)
ฮาล์ฟโทน คือ เฉดสีเทาที่เกิดจากการรวมตัวกันของจุดสีดำ เช่น สีเทาเข้มจะเกิดจากพื้นแบ็คกราวน์สีดำทึบแต่เว้นพื้นสีขาวไว้เล็กน้อย เมื่อมองดูโดยรวมก็จะเห็นเป็นสีเทาเข้ม ดังนั้นสรุปได้ว่า การพิมพ์แบบฮาล์ฟโทนก็คือ การพิมพ์ภาพขาว-ดำ โดยจะมีการไล่เฉดสีเทาตามสัดส่วนของสีที่เข้มและอ่อนนั่นเอง
สำหรับจุดสีฮาล์ฟโทนที่รวมกลุ่มกัน จะถูกเรียกว่า เซลล์ฮาล์ฟโทน ซึ่งอาจจะรวมกลุ่มกันในรูปแบบของตารางสี่เหลี่ยม วงกลม รูปเครื่องหมายบวก หรือรูปโลโก้เล็กๆ
ความละเอียดของฮาล์ฟโทนสามารถวัดได้เป็นจำนวนเส้นต่อนิ้ว (lpi : Line per Inch) ซึ่งสามารถคำนวณหาขนาดเซลล์ฮาล์ฟโทนได้ดังนี้

ขนาดของเซลล์ฮาล์ฟโทน = ความละเอียดของเครื่องพิมพ์/ความถี่ของเส้น

จำนวนจุดในเซลล์ฮาล์ฟโทน = ขนาดของเซลล์ฮาล์ฟโทน ยกกำลังสอง

ตัวอย่างเช่น เครื่องพิมพ์เลเซอร์มีความละเอียดของเครื่องพิมพ์ 300 dpi สามารถพิมพ์ด้วยความถี่ 100 lpi จะทำให้เราทราบได้ว่าเครื่องพิมพ์สามารถสร้างเซลล์ฮาล์ฟโทนได้ขนาด 3x3 กริด หรือมีจำนวน 9 จุดนั่นเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ถ้าฮาล์ฟโทนที่มีจำนวนจุดที่น้อยก็จะทำให้ภาพมีความละเอียดมากขึ้นด้วย
ปกติการพิมพ์ด้วยอิมเมจเซตเตอร์โดยส่วนใหญ่จะใช้ความละเอียด 2400 dpi และใช้ความถี่ 150 lpi จะทำให้ได้เฉดสีเทา 256 ค่าสี ซึ่งระบบการพิมพ์อนุญาตให้เราใช้สีได้สูงสุด 256 สีเท่านั้น แต่สามารถเลือกใช้ความถี่ lpi ได้


0


Krulee

: ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ