ตัวอย่างแผนการตลาด กลยุทธ์การตลาด

ที่มา:www.maketeer.com

Cover Story : WAKE UP ! : ไปรษณีย์ไทย ด้วยพลังของ Networkและ Service (Marketeer/พ.ค./52)

 

Cover Story : WAKE UP ! : ไปรษณีย์ไทย ด้วยพลังของ Networkและ Service (Marketeer/พ.ค./52)


……………………………………………………………………….


Cover Story


เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล ภาพ : ชัชวาล โตวณะบุตร


WAKE UP !


ตื่นจากหลับ ปลุกพลังให้แบรนด์


 


WAKE UP !


ไปรษณีย์ไทย


ด้วยพลังของ Networkและ Service


 


ความ “ใกล้ชิด” ความ “ผูกพัน” และ “เครือข่าย” ที่ถักทอมาอย่างเหนียวแน่นระหว่าง ไปรษณีย์ไทยกับผู้คนในสังคมตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 126 ปี เป็นต้นทุนสำคัญอย่างมากในการสร้าง Brand Story ให้แข็งแกร่งขึ้น


การปรับยุทธศาสตร์การทำงานให้เข้มข้น และเป็นไปในเชิงรุก เพื่อพัฒนารูปแบบในการทำงาน, สินค้าและบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการจริงของผู้คนที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุค แต่ละสมัย ทำให้องค์กรที่มีรายได้หลักจากการ “ส่งจดหมาย และขายแสตมป์” มาตลอดเวลา 100 กว่าปี สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างดี และยังใกล้ชิดกับผู้คนในวันนี้มากขึ้นทุกที


อานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) คือบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้ที่ทำการไปรษณีย์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่ส่งจดหมายขายแสตมป์ แต่เป็น Services Center ที่มีบริการหลากหลาย จนสามารถพลิกฟื้นจากภาวะขาดทุน ประมาณ 1 พันล้านบาท เมื่อปี 2546 มาเป็นเม็ดเงินกำไรถึง 1,785 ล้านเมื่อปี 2551


แคมเปญ “บริการ อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และการเปิดฉากรุกในการทำตลาดด้วยวิธีการต่างๆ มากขึ้น


 


Super Service Center


หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า วันนี้มีอาหารกว่า 20 เมนู ของร้านดังทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อได้ที่ไปรษณีย์ แค่กดหมายเลข 1545 สั่งวันนี้พรุ่งนี้มีไปรษณีย์นำส่งถึงหน้าบ้าน


ไส้อั่ว กระดูกหมู จากร้านอัมพร ไส้อั่วเม็งราย เชียงราย,  แคปหมู น้ำพริกหนุ่ม ร้านวนัสนันท์ เชียงใหม่, แดงแหนมเนือง หนองคาย, ลูกชิ้นปลาภูเก็ต โรตีกรอบ ปัตตานี หรือปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว จากร้านอรวรรณ สิงห์บุรี


รวมไปถึงเมนูแนะนำหน้าร้อนนี้เช่น ข้าวแช่จากโรงแรมตะวันนา หรือลิ้นจี่แม่กลองที่สามารถสั่งผ่านไปรษณีย์ส่งตรงถึงบ้านต้อนรับฤดูกาลผลไม้ช่วงสงกรานต์ จากสวนกำนันหวล


ทุกรายการจะเป็นของอร่อยจากร้านดัง ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักคุ้นหูของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี


อร่อยทั่วไทย นอกจากจะเป็นลูกเล่นทางการตลาดที่น่าสนใจ และเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารเครือข่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย


ลบภาพที่ว่าไปรษณีย์ส่งได้แต่จดหมาย และพัสดุภัณฑ์เท่านั้นได้อย่างสิ้นเชิง


อานุสรา บอกว่า แคมเปญนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2551 ที่ผ่านมา โดยพัฒนาจากจุดแข็งขององค์กรใน 4 เรื่องหลักคือ 1. ด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมและกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วไทย 2. ด้านความชำนาญในด้านพื้นที่ของพนักงานนำจ่าย 3. ความผูกพันใกล้ชิดในทุกชุมชน รู้จักแหล่งของอร่อย ของดี และ 4. ความพร้อมของรถขนส่งไปรษณีย์ที่วิ่งทุกพื้นที่ ทุกวัน สามารถรับรองความสดใหม่ของอาหารได้


จะว่าไปแล้ว โครงการอร่อยทั่วไทย ก็เหมือนกับเป็นการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) กับพี่น้องชาวใต้ได้ด้วยเช่นกัน โดยที่ทางไปรษณีย์ไทยไม่ตั้งใจ และไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการทำ CSR ด้วยซ้ำไป


หลายปีมาแล้วที่การท่องเที่ยว 3 จังหวัดภาคใต้หยุดชะงัก แม้แต่คนใต้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ไปเที่ยว ดังนั้นผลผลิตที่ขึ้นชื่อไม่ว่าจะเป็นลองกอง หรือลูกหยี จึงขายไม่ออก พอมีบริการนี้เกิดขึ้น การซื้อการขายก็เพิ่มขึ้นโดยทางไปรษณีย์สามารถส่งถึงบ้านหรือร้านได้เลย ไม่ต้องมาคอยรับที่สถานีขนส่ง


 


Call Center 1545


สำหรับโปรแกรมยั่วน้ำลายนี้ ไปรษณีย์ไทยยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่ยังไม่สามารถทำให้ติดปากผู้คน และยังมีขั้นตอนที่อาจจะไม่สะดวกนักคือ 1. ต้องไปสั่งซื้อได้ที่ไปรษณีย์ 2. สั่งซื้อผ่านทาง Call Center 1545 และ 02982 222 โดยชำระเงินผ่าน ATM ธนาคารไทยพาณิชย์ และกรุงไทย ผ่านมือถือและบริการ mPay และจุดบริการ Mpay 3.สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์www.thailandpost.co.th และไปรษณีย์ทุกสาขาไม่ได้เปิดรับบริการสั่งซื้อได้ทุกแห่ง ปัจจุบันสามารถบริการได้เพียง 22 จังหวัดทั่วไทยเท่านั้น


“ในอนาคตต้องมีช่องทางที่สร้างความสะดวกให้กับลูกค้ามากกกว่านี้ รวมทั้งสามารถสั่งของได้ไม่มีวันหยุด แต่ต้องมาวางระบบกันใหม่ ต่อไปเราคงทำธุรกิจเมล์ออเดอร์มากขึ้น ถึงตอนนั้นน่าจะสั่งของทานได้ทุกวันเหมือนกัน รวมทั้งมีการขยายพื้นที่บริการครอบคลุมไปทั่วประเทศ การจัดทำแคตตาล็อกรายการอาหารส่งตรงถึงมือลูกค้าเป็นต้น”


สินค้าที่ครองอันดับหนึ่งในการสั่งซื้อมาตลอดคือ แดงแหนมเนือง  โดยยอดสั่งวันพฤหัสบดีและศุกร์จะสูง เพื่อลูกค้าจะได้ทานของในวันเสาร์ – อาทิตย์


นอกจากนั้นทางไปรษณีย์ไทยได้เพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายมากขึ้นเช่นการออกอีเว้นท์ ช่วงเทศกาลต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยผู้ใช้บริการสามารถสั่งซื้อสินค้า “อร่อยทั่วไทย” ที่งานได้เหมือนกับสั่งซื้อที่ ปณ. เคาน์เตอร์ปกติ


“แคมเปญอร่อยทั่วไทยถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้ โดยในเดือนแรกที่เปิดให้มีการบริการมียอดสั่งซื้อประมาณ 4,000 ราย และยังประสบความสำเร็จในการสร้างความรับรู้ เพราะถ้าคุณสามารถส่งของกินได้มันสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง เช่นคุณต้องเร็วและมีประสิทธิภาพ ลบภาพเก่าๆ ด้วยว่า ถ้า ปณ .ส่งมันต้องช้าแน่เลย”


นอกจากนั้น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ยังเชื่อว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อไปยังการใช้บริการขนส่งอื่นๆ ของไปรษณีย์ไทยด้วย


 


จุดเปลี่ยนไปรษณีย์ไทย


การเปลี่ยนแปลงของไปรษณีย์ไทยภายใต้การดูแลของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ มาเป็นการให้บริการเชิงรุกทางด้านธุรกิจอย่างเต็มตัวในรูปแบบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เกิดขึ้นในปี 2546


ในปีนั้นไปรษณีย์ไทยขาดทุนอยู่ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญอยู่ตรงที่ว่าต้นทุนของจดหมายราคาฉบับละ 2 บาท ที่ไม่ได้ขึ้นราคาเลยนานกว่า 17 ปี


การขึ้นราคาของจดหมายจากฉบับละ 2 บาท เป็น 3 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรที่เลี้ยงตัวเองได้ภายใน 5 ปี เป็นการเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับที่มีเหตุการณ์อย่างอื่นตามมามากมาย ภายใต้วิธีคิดในเรื่องการสร้างแบรนด์


วันที่ 1 มกราคม 2549 คือวันแรกของการ Kick Off การ Re-Brand หรือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของไปรษณีย์ไทย โดยว่าจ้างบริษัท Enterprise IG ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ 'Corporate Identity' หรือ CI ให้กับองค์กรชั้นนำเพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ไปรษณีย์ให้ดีขึ้น


จุดแข็งขององค์กรที่พบในตอนนั้นมีอยู่ 4 เรื่องหลักคือ 1. การเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการติดต่อสื่อสาร (Facilitator) 2. การมีขอบข่ายงานที่กว้างขวาง (Networking) 3. การเข้าถึงท้องถิ่น(Localize) และ 4. การบริการด้วยใจ (Thai Heart)


การเปลี่ยนรูปลักษณ์ต่างๆ ที่เป็น Corporate Identity เริ่มจากโลโก้ที่เป็นซองจดหมายรูปสามเหลี่ยม ที่เรียกกันว่า “ซองบิน”


สีแดง ถูกดึงมาใช้เป็นสีที่เป็นสัญลักษณ์ การยกเครื่องที่ทำการไปรษณีย์ การเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงาน และเอกสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้เป็นสีเดียวกัน เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ขององค์กร


ทั้งหมดถูกสร้างไปพร้อมกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของสินค้าและบริการที่มีอยู่ในมือ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้จริงของผู้บริโภคมากขึ้น เป็น Brand Touch Point ที่ถูกสื่อสารผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งทางทีวี วิทยุ รวมทั้งการปรับเวลาในการให้บริการ เปลี่ยนเวลาปิดเปิดตามเวลาราชการ เป็นการให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ปิด 3 ทุ่ม โดยเริ่มสาขาแรกที่หัวหมาก


การไปปรากฏตัวในงานอีเว้นท์ หรืองานแฟร์ต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกกับลูกค้าที่สามารถส่งของได้เลย เป็นความประทับใจ และแม้แต่ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร แทนที่คนจะมาซื้อไปรษณีย์ทายผลฟุตบอล ณ.ที่ทำการเพียงอย่างเดียว คนของไปรษณีย์ไทยก็ออกไปตระเวนขายตามจุดต่างๆ แม้แต่ในตลาดนัดก็ยังมีเจ้าหน้าที่ไปขายไปรษณียบัตร


อานุสรา บอกว่า เกมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 นี้ ลูกเล่นใหม่ทางการตลาดในการทายผลฟุตบอลจะต้องมีอีกแน่นอน ในรูปแบบที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ที่สำคัญ


 


Network ที่ไม่ใช่แค่ส่งจดหมายขายแสตมป์


การบริการที่ต่างออกไปและเห็นได้ชัดในยุคแรกของการเปลี่ยนมาเป็นบริษัทจำกัด เมื่อปี 2546 เช่น การรับจอง รับส่งคอมพิวเตอร์ในโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อคนไทย เรื่องของการขายหวยออนไลน์ และในปีนั้นยังขายตั๋วละครเวทีเรื่องทวิภพ ของค่ายแอ็กแซ็กท์ และบัตรการแข่งขันเทนนิส ไทยแลนด์โอเพ่นด้วย


วันนี้ไปรษณีย์ไทยเปิดจุดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ต การแสดงและกีฬาให้แก่ไทยทิคเก็ตมาสเตอร์ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ทั้ง 50 แห่ง ประกอบด้วย ปณ. ในย่านชุมชนต่างๆ เช่น ปณ.กลาง พลับพลาไชย พระโขนง มีนบุรี ยานนาวา รองเมือง เป็นต้น ในจำนวนนั้นยังเป็นที่ทำการไปรษณีย์ภายในรั้วมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้แก่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์รังสิต เกษตรศาสตร์ รามคำแหง มศว.ประสานมิตร หอการค้าไทย อัสสัมชัญ และ ม.สยาม


ที่ทำการไปรษณีย์ ยังสั่งของทานได้, เช่าพระ, ซื้อตั๋วรถ บขส และยังเป็นเพย์ แอท โพสท์ (Pay at Post) บริการรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากกว่า 90 รายการ เพื่อความสะดวกสบาย รวดเร็วและถูกต้องแก่ประชาชน ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ผ่านระบบออนไลน์


“ต่อไปเวลาคุณไปที่ไปรษณีย์ก็เหมือนไปซูเปอร์ คุณต้องการซื้ออะไรเรามีให้ หรือคุณจะจ่ายค่าอะไรเราก็มีบริการ”


ไปรษณีย์ไทยยังปิ๊งไอเดียเปิดบริการรับฝาก-ถอนเงินให้กับธนาคาร (เอเยนซี่ แบงกิ้ง) ผ่านที่ ทำการไปรษณีย์ไทย โดยนำร่องจับมือกับ ธ.กรุงไทย   ซึ่งเจ้าของบัญชีธนาคารสามารถฝากเงินได้ไม่เกินวันละ 1 แสนบาท และถอนเงินได้ไม่เกินวันละ 5 หมื่นบาท แสดงรายการแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการสร้างสาขาเพิ่มของธนาคาร และสร้างรายได้เข้าไปรษณีย์ไทยจากการเก็บค่าบริการครั้งละ 15 บาท ขณะที่ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย เบื้องต้นเปิดให้บริการที่ไปรษณีย์หนองเสือ จ.ปทุมธานี และไปรษณีย์บางเสาธง จ.สมุทรปราการ


 


จดหมาย ธุรกิจสร้างรายได้หลัก


ไปรษณีย์ไทยครอบคลุม 4 บริการหลักคือ


1. ตลาดสื่อสาร เช่น จดหมาย, ไปรษณียบัตร, ของตีพิมพ์. จดหมายลงทะเบียน


2. ตลาด บริการด้านการขนส่งสิ่งของหรือสินค้าที่มีลักษณะเป็นหีบห่อ เช่นพัสดุไปรษณีย์


3.ตลาดค้าปลีก เช่น ตราไปรษณีย์ยากรเพื่อการสะสม


4.ตลาดการเงิน เช่นธนาณัติ, ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์


สำหรับรายได้ของไปรษณีย์ไทย จำนวน 15,947 ล้านบาท ในปี 2551นั้น แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสื่อสาร 11,880 ล้านบาทหรือประมาณ  77 %  แม้ว่ารายได้จากการเขียนจดหมายสื่อสารระหว่างกันลดน้อยลงจนแทบหายไปเกือบ 100%  และรายได้ที่หายไปจากโทรเลขที่ปิดฉากการให้บริการไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่จดหมายที่เกิดขึ้นตามมาคือการทวงหนี้บัตรเครดิต และใบแจ้งยอดใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการส่งโบชัวร์สินค้าแบบไดเรคเมล์ เป็นตัวมาสร้างรายได้แทน


อย่างไรก็ตาม แผนการลดค่าใช้จ่ายของสถาบันการเงิน และบริษัทมือถือ ด้วยการส่งข้อความแจ้งยอดทางโทรศัพท์มือถือหรือ อีเมล์แทน หรือการที่มีโปรโมชั่นระบบเติมเงินมากขึ้น เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ต่อไปองค์กรเหล่านั้นอาจจะลดการใช้บริการทางด้านการสื่อสารเช่นกัน


อานุสรากล่าวย้ำว่า


“ในขณะที่ตลาดสื่อสารยังเป็นรายได้หลัก บริษัทต่างๆ ยังต้องใช้บริการเราอยู่ ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของความรวดเร็ว อย่างเช่นต่อไปหากต้องการส่งอีเอ็มเอสให้ถึงภายใน 3 ชั่วโมง เราก็ต้องมีบริการให้ได้ รวมทั้งต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของคนให้มากขึ้น”


สำหรับรายได้ที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังค่อยๆ มาแทนที่ตลาดสื่อสารคือเรื่องของการขนส่ง


 


รุกตลาดขนส่ง


นวัตกรรมใหม่ทางการขนส่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 จากที่ทุกคนเคยรู้ว่าไปรษณีย์ไทยส่งของได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 200 กิโล สามารถส่งมอเตอร์ไซค์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้สำนักงาน


ปัจจุบันบริการประเภทนี้โตขึ้นเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นก็หมายความว่าตลาดทางด้านนี้ลูกค้ายังมีความต้องการอีกมาก


“วันนี้มีคนต้องการให้เราส่งข้าวสาร เพราะมองว่า การทำดอร์ทูดอร์ในเรื่องขายข้าวสาร มันน่าจะเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้าสั่งอะไรก็ได้ แล้วทำไมไม่มีข้าวสารล่ะ เพราะคนไม่มีรถ การหอบหิ้วมาจากซูเปอร์เป็นเรื่องลำบาก แต่เราบอกว่า ข้าวสารทั่วๆ ไปคงไม่ไหว เพราะมันจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในการขนส่ง นอกจากเป็นข้าวสารบางประเภทที่พิเศษจริงๆ ต้องสั่งซื้อเท่านั้นถึงจะได้ ต้องเป็นข้าวที่มีราคาแพงหน่อยถึงจะมีแวลูในการขนส่ง”


นอกจากนั้นยังมีบริการไปรษณีย์แบบครบวงจร สำหรับลูกค้าที่ต้องการฝากส่งเป็นจำนวนมากหรือเป็นประจำ นับตั้งแต่การนำสิ่งของมาพิมพ์ พับ บรรจุซอง ไปจนถึงนำจ่ายเป็นพิเศษ, มีการเปิดบริการพิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจเป็นเฉพาะและบริการจัดส่งสิ่งของด่วนภายในเวลา 4 ชั่วโมง


ปัจจุบันยังมีอีเอ็มเอส เวิลด์ คือการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ แข่ง กับ  DHL ด้วย ทำให้คนรู้ว่าถ้าพูดถึงการส่งด่วนระหว่างประเทศ ไปรษณีย์ก็มีการให้บริการเช่นกัน


“ทุกวันนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตมาก ซึ่งส่งผลมาให้ธุรกิจเราโตตาม เพราะเมื่อยอดสั่งของออนไลน์เยอะ ใครส่ง เพราะมันไม่สามารถส่งออนไลน์ได้ไปรษณีย์ก็ต้องส่ง จากเหตุผลทั้งหมด เราเลยวางตลาดการโตไว้ที่ตลาดขนส่ง”


หาช่องทางใหม่ๆ กับองค์กร


ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้โฟกัสหาลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจรับหน้าที่เป็นแมสเซนเจอร์ส่งผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ให้ถึงมือลูกค้า เมื่อเร็วๆ นี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จัดงานสัมมนา “ไปรษณีย์หนุนเอสเอ็มอี พิชิตตลาดอีคอมเมิร์ซ 2009”


“ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราคือพวกธนาคาร และบริษัทขายตรง เช่นเอวอน ซึ่งจะส่งของให้กับคนที่เป็นเครือข่ายเขาทั่วประเทศ ลูกค้ากลุ่มเหล่านี้มีส่วนทำให้ตลาดขนส่งค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นมา แต่ถามว่าในรายได้ 77 เปอร์เซ็นต์อยู่ดีๆ ขนส่งจะโตขึ้นมาแทนก็ไม่ใช่ มันก็ค่อยๆ เราต้องปรับภาพที่เราบอกว่าจะเข้าสู่ภาคโลจิสติกส์มากขึ้น ต้องมาดูตัวเราว่าเราพร้อมขนาดไหน แล้วค่อยๆ พัฒนาไปให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าได้ เป็นแวร์เฮ้าส์ได้ ในขณะเดียวกัน เป็นดอร์ทูดอร์ เดลิเวอลี่ได้ เราเป็นจุดรับสั่งซื้อได้ ซึ่งต้องใช้เวลา”


 


ต้องเป็นหนึ่งในใจผู้บริโภค


ความพยายามในการเป็นทางเลือกแรกของผู้บริโภคในการใช้บริการ และให้ทุกคนรู้ว่ามีของดีที่ไปรษณีย์ไทย ให้ลูกค้าลองเข้ามาสัมผัส เป็นเรื่องที่ไปรษณีย์ไทยยังต้องพยายามกันต่อไป ปัญหาอย่างหนึ่งคือเรื่องช่องทางในการบริการไม่ได้มีในที่ทำการไปรษณีย์ทั้ง 1,178 แห่ง แต่ต้องดูพฤติกรรมในการบริโภคของคนในสาขานั้นด้วยเช่น การขายตั๋ว มีเฉพาะในสาขาที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ อยู่ตามสถานศึกษา ตั๋วรถ บขส. ก็อาจจะเป็นสาขาที่อยู่ใกล้โรงงาน หรือสถาบันการศึกษา


การเพิ่มจำนวนหน้าร้านหรือการขยายสาขาจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยมีการเปิดเพิ่มแบบแฟรนไชส์ ในกรุงเทพฯ 23 แห่ง ในปีนี้จะเปิดเพิ่มเป็น 50 แห่ง


แต่ในต่างจังหวัดยังไม่มี เพราะค่าแฟรนไชส์ 2.5 แสนบาท อาจจะสูงไป โอกาสในการทำรายได้อาจจะน้อย แต่มีคนต้องการเปิด คาดว่าจะเปิดในจังหวัดใหญ่ๆ ได้ในเร็วๆ นี้


“เมื่อเราต้องการให้เป็นหนึ่งในใจผู้บริโภค คนไปรษณีย์ก็ต้องเตรียมตัวยอมรับความเปลี่ยนแปลง ต้องไดนามิกตัวเองตลอดเวลา เพราะทำให้คนเชื่อมั่นว่า ทุกบริการที่ผ่านเราต้องมีประสิทธิภาพ และเป็นการบริการที่ดี ซึ่งคนของไปรษณีย์ไทยเองเป็นคนกำหนด”


 


แคมเปญใหญ่ : รวมพลังคนไปรษณีย์ไทย


ความสำเร็จในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2546 เป็น 15,947 ล้านบาทในปี 2551 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและการก้าวเดินที่ถูกทาง


ปีนี้คนของไปรษณีย์ไทยต้องการประกาศว่าเป็นปีแห่งพลังและความภาคภูมิใจ   และเมื่อจะต่อยอดแบรนด์นี้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น การเซอร์วิส และหัวใจในการบริการคือเรื่องสำคัญที่สุด   ดังนั้นทางไปรษณีย์ไทยจึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์คนข้างใน


“เราจะย้ำกับพนักงานของเราทั้ง 2 หมื่นกว่าคนว่า ต่อไปการบริการต้องเป็นศูนย์ คือต้องไม่พลาดเลย เพื่อเราจะได้การันตีกับลูกค้าได้ ส่งของ 100 ชิ้น 1,000 ชิ้น ทุกชิ้นต้องไม่พลาดและมีคุณภาพ”


“ปีนี้จึงต้องเป็นปีแห่งการรณรงค์ที่ต้องทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งประเทศ เราเดินสายคุยในวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมที่ผ่านมา ครั้งละ 500 คน ดังนั้นวันนี้ในจำนวน 20,000 คน มีประมาณ 5 พันคนที่เราได้พูดไปแล้ว”


“สิ่งที่พยายามทำต่อไปก็คือ ทำให้การเติบโตของการขนส่งชัดเจนมากขึ้น การจัดสัมมนากับสสว. กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซกับเอสเอ็มอี เพื่อให้เอกชนและรัฐวิสาหกิจได้เห็นถึงบทบาทของเราเพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้นว่าไปรษณีย์สามารถทำได้”


อานุสรา จิตต์มิตรภาพ ยังย้ำอีกว่า “ปัญหาคือไปรษณีย์ไทยมีของดี แต่ทำอย่างไรให้คนได้รับรู้ และเข้ามาใช้บริการ การรับรู้ผ่านแคมเปญการตลาดที่ดีๆ แรงๆ เพื่อให้คนได้เข้ามาสัมผัส และต่อเนื่องไปยังการใช้บริการอื่นๆ ได้อีก เป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องสร้างให้ได้”


 


………………………เรื่องประกอบ……………….


แสตมป์ ยังมีนวัตกรรม


ใครที่มีความคิดว่า “อีเมล์” และระบบ MSN ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้การส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร และโปสการ์ดลดลง จนในอนาคตแสตมป์ไทยจะหมดบทบาทและเลิกผลิตไป


คุณคิดผิดแล้ว ทุกวันนี้ ไปรษณีย์ไทย (ปณท.) มีรายได้จากการขายแสตมป์มากขึ้นทุกปี จากรายได้เมื่อปี พ.ศ. 2546 เพียง 200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,265 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา


เป็นตัวอย่างหนึ่งของสินค้าที่ไม่ยอมถึงทางตันง่ายๆ แต่พยายามพลิกกลยุทธ์ใหม่ๆ มาเป็นจุดขาย เรื่องราวที่น่าสนใจในวาระต่างๆ ถูกถ่ายทอดผ่านแสตมป์ที่สวยงาม จนคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักสะสมแสตมป์ยังต้องซื้อเก็บไว้เช่น แสตมป์ชุดพระเครื่องเบญจภาคีรุ่นบล็อกแตก, แสตมป์ดอกกุหลาบที่มีกลิ่นในเทศกาลวาเลนไทน์, แสตมป์ ชุดเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา แสตมป์ชุดภูฎาน, แสตมป์ในชุดเทศกาลตรุษจีนที่มีภาพการเชิดเสือ, ภาพการเชิดสิงโต, ภาพประติมากรรมไฟ, ภาพขบวนแห่นางฟ้า ฯลฯ


ปลายปีที่ผ่านมา ปณท. ยังได้เปิดตลาดใหม่ทางออนไลน์ของแสตมป์ส่วนตัว ในชื่อที่เรียกว่า Make Me on Stamp ซึ่งถือเป็นคอลเลคชั่นไฮเทคที่มีเอกลักษณ์หน้าการ์ตูนเฉพาะตัว ด้วยเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ที่สามารถแปลงภาพถ่ายเป็นการ์ตูนของ บริษัท คอนเนค วัน จำกัด ทำให้สามารถนำภาพการ์ตูนมาจัดพิมพ์ลงบนแสตมป์ส่วนตัว เป็นคอลเลคชั่นแสตมป์สะสมเวอร์ชั่นใหม่ที่โดดเด่น และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ด้วย โดยสามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ U-Nee.com ในราคา 120 บาท 10 ดวง และ 140 บาท 12 ดวง


นอกจากเป็นการขยายไลน์ของสินค้าแล้ว ยังนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สามารถจัดทำแสตมป์ส่วนตัว หรือ Personalized Stamp ได้ทางอินเทอร์เน็ต และเป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ในการนำภาพการ์ตูนมาจัดทำเป็นแสตมป์ส่วนตัว


ปีนี้จะมีธีมของวันวิสาขบูชา, วันแสตมป์แห่งชาติ ล่าสุดเป็นแสตมป์ 3 มิติ หุ่นละครเล็ก เคลื่อนไหวได้ ชุดนี้จะออกวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ราคาขายชุดละ 120 บาท


ในโอกาสวันครบรอบ “70 ปี การศึกษาคนตาบอดไทย” 12 ธันวาคม 2552 คณะกรรมการพิจารณาจัดสร้างตราไปรษณีย์และสิ่งสะสมของไปรษณีย์ไทยยังได้ให้มีการออกแบบและจัดสร้างตราไปรษณีย์ที่ระลึกในรูปแบบ “อักษรเบรลล์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย


ว่ากันว่า ธีมการออกแบบแสตมป์ไม่ได้คิดกันปีต่อปี แต่ยังคิดล่วงหน้าไปถึงปี 2554 แล้วด้วยซ้ำไป


 


..........................เรื่องประกอบ.....................................................................


ตู้ไปรษณีย์แปลงโฉม


ทันทีที่เศรษฐกิจไม่ดี คนส่งของส่งเงินกลับบ้านน้อยลง ไปรษณีย์ก็พยายามหาลูกเล่นใหม่ทางการตลาดขึ้นมาทันที


คราวนี้ใส่เกียร์ห้าหนุนท่องเที่ยวทั่วไทยเต็มพิกัด แต่งสีสันตู้ไปรษณีย์สุดสวยสะท้อนความเป็น “ที่สุด” ของแหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์แต่ละแห่ง ประเดิม 14 ตู้ กระจายติดตั้งทั่วทุกภาครับสงกรานต์ที่ผ่านมาให้ได้คึกคักครึกครื้นทั่วหน้า พร้อมจับมือ ททท. แจ้งเกิดบริการใหม่ “โลจิสโพสต์ พลัส” รับขนสัมภาระให้นักท่องเที่ยวส่งตรงถึงที่หมายล่วงหน้า


บริการพิเศษที่จัดก็เช่น เมื่อนักท่องเที่ยวไปเที่ยวจังหวัดอุบลฯ ต้องการได้ของดีเมืองอุบลฯ ประเภทหมูยอ แหนมกระดูกหมู กลับบ้านหรือฝากญาติพี่น้องทุกอย่างได้ถูกจัดไว้เรียบร้อยที่ไปรษณีย์ ให้คุณซื้อส่งกลับบ้าน หรือส่งไปยังบ้านญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงได้เลย โดยไม่ต้องขนกลับบ้าน หรือหิ้วจากตลาดไปไปรษณีย์


ส่วนตู้ไปรษณีย์ที่สวยงามนั้น อาจจะมีส่วนกระตุ้นคนให้เขียนโปสการ์ดกลับบ้านหาเพื่อนฝูง  โดยทางไปรษณีย์มีตราประทับที่ทำพิเศษ มีโปสการ์ด สวยๆ ทันสมัยไว้ขายด้วย

 


0


Chaingkeak

: ผู้ใช้ลงทะเบียน
การตลาด