ความคิดเห็นเรื่อง 'การปฏิรูปการศึกษา'
ความคิดเห็นเรื่อง 'การปฏิรูปการศึกษา'
ในวันที่เราต่างรู้สึกมืดมนจนปัญญาในการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมือง เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารประเทศ นักวิชาการทั้งหลายพยายามร่วมกันเสนอทางออกต่างๆนานา แต่ดูเหมือนกำลังใจของเราแต่ละคนจะค่อยๆถดถอยกับการเห็นอนาคตที่มืดมิด สิ่งหนึ่งที่คนเป็นครูอย่างข้าพเจ้าคอยเงี่ยหูฟัง คือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ รวมถึงโลกใบนี้
แม้จะไม่ค่อยมีการกล่าวถึง 'การปฏิรูปการศึกษาของชาติ' บนเวทีต่างๆ ก็มิอาจเปลี่ยนความคิดของข้าพเจ้าที่เห็นว่า....
“การศึกษาเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ควรจะเป็นพลังที่สำคัญที่สุดของชาติ เพื่อทุกคนและทุกเรื่อง (Education For All) ทุกภาคส่วนของสังคมต้องทุ่มเทเพื่อการศึกษา ( All For Education) ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนและครูเท่านั้น และการศึกษาต้องสามารถแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง มีความยากจนเป็นอาทิ ซึ่งกล่าวเป็นสำนวนว่า การศึกษารักษาทุกโรค (Education Cure All)” จาก ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
จะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองประเทศและคนในชาติตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่มีต่อการแก้ไขปัญหาอื่นๆในสังคม?
จากการอ่านหนังสือเรื่อง 'ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน' ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี ทำให้ได้เห็นการเปิดฉากปฏิรูปการศึกษาของชาติที่น่าท้าทายสำหรับคณะผู้นำประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เอา 'ความรู้' จากตำราเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอา 'ชีวิต' เป็นตัวตั้ง เน้นการเรียนเพื่อสอบ เพื่อคะแนน ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหา เป็นความรู้ที่ไม่เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตจริง ซึ่งเป็นแนวคิดที่คุณหมอประเวศได้ยืนหยัดนำเสนอมากว่า ๒๐ ปี ท่านได้นำเสนอทิศทางการปฏิรูปการศึกษาเพื่อ 'แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน' อย่างเป็นรูปธรรม เป็นระบบ ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค
ขณะที่ศึกษาแนวทางของคุณหมอ ก็ได้มองหาจุดเชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูคนหนึ่งจะน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงก่อนที่จะรอนโยบายจากผู้บริหารประเทศ กล่าวได้ว่า งานเขียนของท่านได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจ ได้เรียนรู้ ได้คิด ได้ตั้งมั่นปฏิบัติงานให้เกิดผลจริง
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้ทำหน้าที่ครูเป็นเวลา ๑๕ ปี ได้เห็นปัญหาในเรื่องของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญของชาติ ได้ศึกษาถึงเหตุปัจจัยของปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา จึงอยากที่จะร่วมนำเสนอแนวทาง 'ปฏิรูปการศึกษาของชาติ' จากมุมมองของครูผู้ใกล้ชิดกับเด็กและครอบครัว หน่วยงานที่เล็กแต่สำคัญที่สุดของสังคมมาเพื่อผู้บริหารประเทศได้พิจารณาดังนี้
๑. “ครูคนแรกของลูก' พ่อแม่ ผู้ให้กำเนิดชีวิต
ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินวลีที่ว่า 'กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว' การปฏิรูปการเรียนรู้ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ จะกล่าวถึงการพัฒนาด้านสติปัญญา การพัฒนาสมองและ การกระตุ้นการเรียนรู้ภาษา พบว่ามีงานวิจัยเกิดขึ้นมากมาย ส่งเสริมให้พ่อแม่ตื่นตัวในเรื่องการเรียนรู้วิชาการของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ลากยาวจนถึงระดับปริญญา
อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนานักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาในระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้นักเรียนมีปัญหาด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจและด้านการเรียนรู้ คือ พ่อแม่ 'ครูคนแรกของลูก'
ปัญหาของผู้ปกครองที่พบส่วนใหญ่ อาจจำแนกได้ดังนี้
ก. เรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ การทะเลาะเบาะแว้ง การสื่อสารอย่างไม่เป็นมิตร การแยกทางหรือหย่าร้างกันของพ่อแม่ส่งผลให้เด็กมีภาวะซึมเศร้า รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมการเรียนรู้และอาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสังคม ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจเพื่อนหรือครู
ข. เรื่องความคิดเห็น วิธีการอบรมบ่มเพาะลูกที่ไม่ถูกต้อง คือ รักมาก เมตตาจนขาดอุเบกขา ปรนเปรอด้วยวัตถุ ประคบประหงม ส่งเสริมลูกให้ทำหน้าที่เฉพาะ 'เรียนรู้วิชาการ' ทั้งนี้มิได้จำกัดเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมสูงเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ลูกอ่อนแอทั้งทางกายและใจ เรียนเพื่อคะแนน และรางวัล เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ชอบแข่งขัน เป็นผู้เสพมากกว่าผู้สร้าง ขาดจิตสาธารณะและจิตอาสา ขาดความอดทน ความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เยาวชนติดอบายมุขต่างๆ กลายเป็นปัญหาสังคมระดับชาติตั้งแต่ ปฐมวัย เช่น เกมคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน สื่อ ยาเสพติด เซ็กส์ เป็นต้น
การศึกษาที่ผ่านมามุ่งเน้นแต่ 'วิชาการ' เป้าหมายเพียงเพื่อให้คนเข้าทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อเพิ่มกำลังทางด้านเศรษฐกิจให้กับชาติ ละเลยการพัฒนา 'วิชาชีวิต' วิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ รวมถึงหน้าที่ บทบาทหลักต่างๆในฐานะมนุษย์ โดยเฉพาะหน้าที่ของสามีภรรยา หน้าที่และความรับผิดชอบพ่อแม่
พระพรหมคุณาภรณ์ได้เขียนถึงความสำคัญของการเป็น 'พ่อแม่' ในหนังสือ 'ความสุขของครอบครัว คือสันติสุขของสังคม' ว่าพระพุทธองค์ยกให้พ่อแม่เป็นเสมือนทิศตะวันออก ทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อแม่เป็นแบบอย่าง เป็นผู้ให้ความรู้ ความเข้าใจ สอนวิธีดำเนินชีวิต หรือแม้แต่ให้ชีวิตกับลูก
โดยสรุปพระพุทธเจ้าทรงแสดงฐานะของพ่อแม่ไว้ ๓ ประการ ดังนี้คือ
๑. เป็นพระพรหม คือ ผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดูและแสดงโลกนี้ให้กับลูก
๒. เป็นบูรพาจารย์ คือ ครูคนแรกของลูก สอนพื้นฐานทุกอย่างในการดำเนินชีวิตให้กับลูก
๓. เป็นอาหุไนย หรือพระอรหันต์ของลูก คือ มีคุณธรรมอย่างน้อยจิตใจบริสุทธิ์ รักลูกด้วยความจริงใจ
หากเรายกเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่อง 'การเป็นพ่อแม่' นี้มาศึกษา ตีความและกำหนดเป้าหมายและนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ชัดเจน ประเทศชาติของเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด?
ในที่นี้ขอนำเสนอแนวทางดำเนินการเพื่อสร้างเหตุปัจจัยในการแก้ไขปัญหาข้างต้น ดังนี้
๑.๑ กำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ 'วิชาคู่ชีวิต' คือ หน้าที่และบทบาทของ 'สามี' และ'ภรรยา' เป็นวิชาบังคับให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาทุกสถาบันได้เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่ เรียนรู้วิกฤตปัญหาการแตกแยกหรือหย่าร้างของครอบครัวและผลกระทบต่อเด็ก สังคมและประเทศชาติ เช่น ไปเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งจากการท้องไม่พร้อมของแม่วัยเด็ก เพื่อให้เยาวชนได้เห็นว่าการตัดสินใจ และการกระทำของเราแต่คน อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาระดับสังคมของชาติได้
ทุกวันนี้คู่รัก จะใช้บริการสถาบันเตรียมตัวก่อนแต่งงาน (Wedding Studio) ทุ่มทุนตัดชุด ขัดพอก บำรุงความงามทางกาย ถ่ายรูปทำวีดีโอ เพื่อประกาศความรักของคนทั้งสองให้สังคมรับรู้ แต่ที่จริง สิ่งที่ควรเตรียมพร้อม คือ เรื่องความรู้ ความเข้าใจ บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ คุณค่าของการเป็น 'คู่ชีวิต” เป็น'ผู้นำครอบครัว' ตรวจสอบตนเองว่ามีความพร้อมและเหมาะสมเพียงใด ก่อนที่จะตัดสินใจ 'จดทะเบียนสมรส' หรือ 'ให้กำเนิดชีวิตใคร'
๑. ๒. กำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ 'วิชาพ่อแม่' คือ หน้าที่ของผู้ที่ให้กำเนิดชีวิต ผู้ที่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณการทำหน้าที่เป็นมนุษย์ของลูก เป็นวิชาบังคับในระดับอุดมศึกษา โดยลักษณะการเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบวิชาคู่ชีวิต เรียนจากผู้คนและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมจริง เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ตรวจสอบ ไตร่ตรองตนว่ามีความเหมาะสม ความพร้อมในการทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีคุณค่านั้นเพียงใด
ขณะเดียวกัน ควรกำหนดให้สถานศึกษาทุกสถาบัน จัดการให้ความรู้ในรูปแบบ 'ห้องเรียนพ่อแม่' เรื่องพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความคิด พฤติกรรมของลูกและวิธีการสื่อสารและวิธีบ่มเพาะอบรมลูกที่ถูกต้อง โดยมีการกำหนดหลักสูตรเป็นมาตรฐานของชาติ มีการสะท้อน ประเมินผลการทำหน้าที่พ่อแม่ของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้การกำหนดแนวนโยบายต่างๆข้างต้น ควรกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ไม่แปรเปลี่ยนตามรัฐบาล
๒. 'เยาวชนของชาติ พลเมืองของโลก' ๒ วิชาชีวิตที่ไม่เคยฮิตติดอันดับในหลักสูตรการศึกษาของชาติ
ชีวิตที่ไหลตามกระแสของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ฉุดความคิด จิตใจและพฤติกรรมของเราแต่ละคนให้ต่ำลงจนใกล้เคียงกับสัตว์ เพราะใช้สัญชาตญาณเป็นเข็มทิศมากกว่าปัญญาคิดพิจารณาของมนุษย์ การขาดสติในการดำเนินชีวิต ทำให้เอา 'ตัวเอง' เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ยิ่งนับวันจิตสำนึกต่อส่วนรวมของเด็กและเยาวชนไทยก็ยิ่งสึกหรอจนเข้าขั้นวิกฤต ท้องไม่พร้อมครองอันดับ ๒ ของโลก เด็กไทยติดยาบ้าครองอันดับ ๑ ของโลก สถิติด้านลบต่างๆเหล่านี้ เป็นกระจกสะท้อนที่ชวนให้เราต้องหันกลับมาช่วยกันสอดส่อง หาวิธีแก้ไข ร่วมมือต่อโหนดกันทั้งส่วนงานของรัฐกับโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวที่สุด ในที่นี้ขอเสนอแนวทางดำเนินการ ดังนี้คือ
๒.๑ กำหนดเป้าหมายของชาติให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิชาชีวิต และฝึกฝนทักษะที่สำคัญ เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติและของโลก โดยศึกษาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และประเมินการณ์ต่อในอนาคต โดยจับมือวางกรอบนโยบายแนวปฏิบัติร่วมกันทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยตรง เช่น โรงเรียน สถานศึกษาทุกประเภท และที่สำคัญคือผู้ผลิตสื่อ
๒.๒ วิชา 'เยาวชนของชาติ พลเมืองของโลก'นั้น ไม่สามารถกำหนดให้เป็นหลักสูตรสอนเฉพาะที่โรงเรียน แต่รัฐควรกล้าที่จะกำหนดนโยบาย เงื่อนไขให้สื่อทั้งหมดของประเทศมีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม แม้จะเป็นการค้าเสรีก็ตาม เช่น กำหนดรายการทีวีที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองของชาติและของโลก มากกว่ารายการที่ส่งเสริมด้านความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง (ประกวดร้องเพลงและเต้นรำ) และวิชาการ เท่านั้น เพราะเด็กและเยาวชนจะเรียนรู้ว่านั่นคือทั้งหมดที่ควรทำ ที่เป็นหน้าที่ของตน ทำให้คับแคบ ขาดจิตสำนึกเรื่องส่วมรวม เติบโตเป็นผู้ก่อการอกุศลต่อสังคมโลก
๒.๓ วิชา 'เยาวชนของชาติ พลเมืองของโลก' คือ 'วิชาชีวิต' ที่ควรกำหนดให้มีคุณค่า มีความสำคัญที่สุด เหนือ'วิชาการ' ใดใด ในระบบการศึกษาของชาติ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดให้นักเรียนในระดับชั้น และช่วงชั้นต่างๆเรียนรู้ปัญหาของสังคมและลงมืออาสาช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น โดยให้มีความยากง่ายแตกต่างตามระดับความสามารถและพัฒนาการตามวัย เริ่มตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา และกำหนดให้มีสัดส่วนสำคัญในการศึกษาต่อในระดับต่างๆ เพื่อให้เด็ก ผู้ปกครองและครูให้ความสังคม
ทั้งนี้การกำหนดแนวนโยบายต่างๆข้างต้น ควรกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ไม่แปรเปลี่ยนตามรัฐบาล
๓. “โตก่อนโต- ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน'
เมื่อค่านิยมและระบบการศึกษากระแสหลักของชาติเห่อเหิมกับ 'ความมั่งมีของตน' มากกว่า 'ประโยชน์ของส่วนรวม' และให้ความสำคัญกับ 'ชื่อเสียง' ของสถาบันมากกว่า 'คุณภาพ'
การศึกษาในห้องเรียนจึงกลายเป็นเรื่องน่าหน่ายของนักเรียน สื่อและการกวดวิชากลับเป็นเรื่องสนุก ท็อปฮิตในสังคมของเด็กและเยาวชนไทย ขยับขยายการติวเข้ม กวดวิชาจากระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาโท จากลูกคนยากจนถึงทายาทเศรษฐีเงินตรา
ในฐานะของอดีตเยาวชนคนหนึ่งของชาติ ได้คิดทบทวนถึงประสบการณ์การก้าวเดินแต่ละช่วงชั้นในระบบการศึกษาของชาติ รู้สึกว่าเราเดินไปอย่างไม่รู้จักตนเอง ไม่มีทิศทาง ไม่มีเป้าหมายชัดเจน
การศึกษาที่ผ่านมาสอนให้เราศึกษาเรื่องต่างๆรอบและนอกตัว แต่น้อยนักที่จะเปิดโอกาส กำหนดเครดิตให้เราได้เรียนรู้จักความรู้สึก นึกคิด พฤติกรรม ความสนใจ ความถนัด หรือส่งเสริมความสามารถเฉพาะบุคคลของเรา ทั้งที่ต่างรู้ความจริงแท้ว่าไม่มีใครเหมือนกันสักคนในโลกใบนี้
นักเรียนมัธยมต้น ถูกกำหนดให้เลือกเรียนตามแผนการเรียนต่างๆ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าแผนการเรียนนั้นๆจะพาไปสู่คณะ สาขาใดได้บ้าง และเป็นบันไดให้เราเดินต่อไปทำงานในวิชาชีพใดได้บ้าง
แม้จะยังไม่เคยเห็นงานวิจัยที่ยืนยันตัวเลขของบัณฑิตที่จบปริญญาตรีและทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายทรัพยากร และเวลาสำหรับ การศึกษาที่ทำให้ 'สิ่งที่เรียนไม่ได้ใช้ แต่ต้องใช้สิ่งที่ไม่ได้เรียน' เหมือนกับการขับรถออกจากกทม. ไปทางตะวันออกคือ บางนา โดยที่ไม่รู้ว่าสุดทางจะไปไหน รู้สึกตัวอีกทีเจอหาดทรายติดทะเล แต่ที่จริงอยากขึ้นเหนือไปเดินเขาที่เชียงราย หรือแม่ฮ่องสอนมากกว่า
“โตก่อนโต' คือ ตัวอย่างการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ให้นักเรียนได้มีโอกาสใคร่ครวญศึกษาความสนใจ ความถนัด ความสามารถด้านต่างๆของตนเอง และลองศึกษาวิชาชีพที่สนใจ โดยการไป 'ติดตามเรียนรู้' (Shadowing)ตั้งแต่ระดับมัธยมต้น และทำโครงงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการตั้งเป้าหมายชีวิตด้านวิชาชีพให้กับตนเอง โดยการได้รู้จักสำรวจข้อเด่นข้อด้อยของตน ฝึกรับผิดชอบทางที่เลือกเดินต่อในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับวิชาชีพที่สนใจ หากในที่สุด เกิดความคิดเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้กระบวนการ การตั้งเป้า การเลือกวิธีการ การตัดสินใจ รับผล แก้ไขปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมด้วยตนเอง
การวางหลักสูตรให้เด็กฝึกรับผิดชอบตนเองเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมให้มีวุฒิภาวะทางความคิด เป็นที่พึ่งของตนเองตั้งแต่ยังอยู่ในสถานะของเด็กและเยาวชน เป็นการ 'โตก่อนโต' ที่สร้างประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมส่วนรวม เริ่มตั้งแต่ในบ้าน เป็นลูกที่ดีของครอบครัว เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของชาติ และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าต่อสังคมโลก
ทั้งหมดนี้เป็นการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยจากครูคนหนึ่งที่มองจากมุมมุมหนึ่ง หากมีข้อเสนอแนะประการใดที่ยังไม่ชัดเจน ยินดีอธิบายเพิ่มเติมเท่าที่สามารถทำได้
พัชนา มหพันธ์ (ครูโรงเรียนปัญญาประทีป)
เขียนไว้เมื่อปี ๒๕๕๗
อ้างอิง:
'ความสุขของครอบครัว คือสันติสุขของสังคม' โดย พระพรหมคุณาภรณ์
'ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน' โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
ขอบคุณเรื่องราวจาก เฟซบุ๊ก คุณ Patchana Mahapan